แชร์

ภาวะนอนกรนในเด็ก

ภาวะนอนกรนในเด็ก

เด็กส่วนใหญ่มีอาการนอนกรนได้บ้างเป็นครั้งคราว เช่น ในขณะเป็นหวัดหรือภูมิแพ้กำเริบ ถือว่าไม่เป็นอันตรายใดๆ แต่หากเด็กนอนกรนเสียงดังเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกความเสี่ยงในการมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea Syndrome) ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำลง ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ เด็กเมื่อนอนแล้วหายใจไม่ออก จะมีอาการนอนกระสับกระส่าย ตื่นนอนบ่อย ทำให้การนอนหลับตอนกลางคืนไม่มีคุณภาพซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การเรียนรู้ และพัฒนาการของเด็ก

 

โรคหรือภาวะที่มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะนอนกรนผิดปกติ เช่น

1. โรคอ้วนในเด็ก ไขมันที่รับประทานเข้าไปจะไปสะสมบริเวณหลอดทางเดินหายใจ

2. ภาวะต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โต

3. ภาวะจมูกอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้ เยื่อบุภายในบวมทำให้อุดตันทางเดินหายใจ

4. โรคทางสมองและกล้ามเนื้อทำงานไม่ดี มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ

5. โครงหน้าผิดปกติ เช่น คางสั้น

6. เด็กที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม

 

อาการที่สังเกตได้ว่าเกิดภาวะนอนกรน

1. นอนหายใจเสียงดังเป็นประจำ หายใจสะดุดติดขัด

2. นอนดิ้นหรือสะดุ้งตื่นขึ้นมาระหว่างหลับ

3. มีท่านอนที่ผิดปกติ เช่น นอนคว่ำ แหงนศีรษะ เชิดคางมากกว่าปกติ

4. บางรายอาจปัสสาวะรดที่นอน

5. ปวดหัวหรืออ่อนเพลียในตอนเช้า

6. มีปัญหาการทานอาหารหรือไม่เจริญอาหาร

7. มีปัญหาทางพฤติกรรม เช่น ก้าวร้าว สมาธิสั้น ซนผิดปกติหรือง่วงซึมผิดปกติในเวลากลางวัน

 

การวินิจฉัย

1. การวินิจฉัยประกอบด้วยการซักประวัติและการตรวจร่างกาย

2. การเอกซเรย์ทางด้านข้างของศีรษะเพื่อดูต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์

3. ในบางรายจำเป็นต้องการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนขณะหลับ หรือตรวจการนอนหลับแบบเต็มรูปแบบ (Sleep test) เป็นการตรวจคุณภาพการนอนหลับเพื่อช่วยยืนยันผลการวินิจฉัย

 

การรักษา

การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุ

1. การตัดต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์ในรายที่มีต่อมโต พบว่าช่วยรักษาการอุดตันของทางเดินหายใจในขณะหลับได้ถึง 75-100% จึงถือเป็นการรักษาหลักในผู้ป่วยกลุ่มนี้

2. การใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อป้องกันการอุดตันของทางเดินหายใจในขณะหลับ (CPAP หรือ BiPAP) ในผู้ป่วยซึ่งมีการอุดตันของทางเดินหายใจขณะหลับเกิดสาเหตุอื่นๆ หรือ ในผู้ป่วยที่ตัดทอนซิลแล้วยังมีปัญหาหรือ ในรายที่มีปัญหาสุขภาพทางด้านอื่นไม่สามารถผ่าตัดได้

3. การรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อปรับแก้ความผิดปกติของโครงสร้างใบหน้าและทางเดินหายใจส่วนบนที่แคบกว่าปกติ

4. การรักษาอาการอื่นๆ ที่อาจเป็นปัจจัยร่วมให้เกิดปัญหาการหายใจที่ผิดปกติขณะหลับเป็นโรคภูมิแพ้,การควบคุมน้ำหนัก

 

ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะนอนกรนชนิดที่มีการหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ทำให้มีออกซิเจนในเลือดลดลง ดังที่กล่าวมาแล้ว หากมิได้รับการรักษาหรือแก้ไขอย่างทันท่วงทีจะทำให้เด็กมีสติปัญญาต่ำ,ระดับการเรียนรู้ต่ำลง,มีสมาธิสั้น,Active มากไม่อยู่นิ่ง,ง่วงนอนในเวลากลางวัน,ปัสสาวะรดที่นอน,ความดันโลหิตสูง,ความดันเลือดในปอดสูง หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษา อาจจะทำให้เกิดภาวะหัวใจทำงานล้มเหลวได้

 

บทความโดย แพทย์หญิงศิวัชญา สิงห์วิจารณ์ สาขากุมารเวชศาสตร์ อนุสาขาโรคระบบการหายใจ


คุณหมอแนะนำ

ติดตามเรา

ห้องแชทสอบถามข้อมูล
20 เมษายน 2567