แชร์

ไขมันพอกตับ โรคที่มากับความอ้วน

โรคไขมันพอกตับ (fatty liver disease) เป็นกลุ่มของโรคที่เกิดจากการสะสมไขมันในตับมากเกินปกติ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดที่ทำให้ผลการตรวจการทำงานของตับผิดปกติ และมักไม่แสดงอาการ พบได้บ่อยเมื่อตรวจสุขภาพ แต่ถ้าไม่รับการดูแลและเฝ้าระวัง ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย เช่น โรคตับแข็ง และมะเร็งตับได้ในอนาคต

สาเหตุของโรคไขมันพอกตับสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (alcoholic fatty liver disease) ความรุนแรงของโรคจะขึ้นกับประเภท ปริมาณ และระยะเวลาที่ดื่มแอลกอฮอล์ กลุ่มที่ 2 ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (non-alcoholic fatty liver disease) โดยมีผลจากโรคที่ทำให้เกิดการสะสมของไขมันในตับมากกว่าปกติ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไวรัสตับอักเสบซี หรทอการรับประทานยาบางชนิด

ใครบ้างที่เสี่ยงภาวะไขมันพอกตับ

- คนอ้วน ผู้ชายรอบเอวเกิน 36 นิ้ว , ผู้หญิง รอบเอวเกิน 32 นิ้ว (สำหรับคนไทย) - ผู้ที่รับประทานอาหารที่ ไขมัน และพลังงานสูง - ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือมีน้ำตาลในเลือดมากกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร - ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง 130/85 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป - ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มาก

รู้ได้อย่างไรว่าเริ่มมีไขมันพอกตับ

โดยทั่วไปโรคไขมันพอกตับจะไม่ค่อยแสดงอาการ ส่วนใหญ่การตรวจพบโรคไขมันพอกตับ มักพบในผู้ที่เข้ารับการเจาะเลือดตรวจสุขภาพประจำปีหรือตรวจทางการแพทย์ด้วยเหตุผลอื่นๆ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น อ่อนเพลีย รู้สึกตึงบริเวณใต้ชายโครงขวา หรือตรวจพบโดยบังเอิญจากการอัลตราซาวด์ช่องท้องด้วยสาเหตุอื่น ๆ

ไขมันพอกตับ” แบ่งออกเป็น 4 ระยะ

- ระยะแรก เป็นช่วงที่ไขมันมีการสะสมในเนื้อตับ แต่ยังไม่มีการอักเสบเกิดขึ้นภายในตับ - ระยะที่สอง เมื่อมีการสะสมต่อเนื่อง ตับจึงเริ่มเข้าสู่ภาวะของการอักเสบ และหากปล่อยไปเรื่อยๆ เกินกว่า 6 เดือน อาจกลายเป็น “ตับอักเสบเรื้อรัง” - ระยะที่สาม หลังเกิดภาวะการอักเสบรุนแรงหรือเกิดพังผืดสะสมในตับ เซลล์ตับจะค่อยๆ ถูกทำลายลง - ระยะที่สี่ เมื่อเซลล์ตับถูกทำลาย ทำให้ตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ส่งผลให้เกิดเป็น “ภาวะตับแข็ง” ในที่สุด

แนวทางการป้องกันและลดความเสี่ยงจากโรคไขมันพอกตับ

- หากมีน้ำหนักตัวมาก ควรลดน้ำหนักโดยให้น้ำหนักตัวลดลงจากเดิมอย่างน้อยร้อยละ 5 ในช่วงเวลา 1-2 ปี - หมั่นออกกำลังเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ล่ะ 3 วัน ครั้งละ 30 นาที - รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น อาหารที่มีไขมันต่ำ กากใยสูง และให้พลังงานต่ำ - ผู้ที่ป่วยเบาหวานหรือไขมันในเลือดสูง ควรควบคุมโรคให้ดีด้วยการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง - หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ - ตรวจสุขภาพเป็นประจำ พบแพทย์เป็นประจำตามแพทย์นัดเมื่อต้องตรวจติดตามโรค

บทความโดย นายแพทย์ชาญณรงค์ ตรีสุวรรณวัฒน์ แพทย์เฉพาะทางชำนาญการด้านอนุสาขาอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร

คุณหมอแนะนำ

ติดตามเรา

ห้องแชทสอบถามข้อมูล
21 พฤศจิกายน 2567