แชร์

สัญญาณเตือน Heat Stroke

จากสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นในช่วงนี้ “โรคลมแดด” หรือ “ฮีทสโตรก” ( Heatstroke ) คือ โรคอันตรายที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อน โดยเกิดจากที่อยู่ท่ามกลางอากาศร้อนมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ เมื่อเกิดอาการควรได้รับการรักษาในทันที เพราะอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า อาจทำให้อันตรายถึงแก่ชีวิตได้

สัญญาณเตือน ที่ควรระวัง

1. ตัวร้อนมาก อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส

2. ผิวหนังแห้งและร้อน ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก

3. ความดันโลหิตลดลง

4. หัวใจเต้นเร็วมาก ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว

5. กระหายน้ำมาก

6. วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด

7. คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย

8. อาจถึงขั้นชักกระตุก เกร็ง และหมดสติไป

ใครบ้างที่มีความเสี่ยง Heatstroke

  1. เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว

  2. ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หรือโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน

  3. ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน

  4. ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ

  5. ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานาน เช่น ออกกำลังกาย นักกีฬากอล์ฟ เกษตรกร ผู้ที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง

  6. ผู้ที่ทำงานออฟฟิศ ที่ทำงานในห้องแอร์เป็นเวลานานแล้วออกมาเจอกับอากาศร้อนจัด จนร่างกายปรับตัวไม่ทัน

  7. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม และในสภาพอากาศที่ร้อนจัด (แอลกอฮอล์ออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น จนอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้)

วิธีป้องกันตัวเองจากโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก

  1. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรืออยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนจัด

  2. สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่ง ไม่หนา น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดีและป้องกันแสงแดดได้

  3. จิบน้ำบ่อยๆ อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน ถึงแม้ไม่กระหายน้ำก็ตาม เพื่อเติมความชุ่มชื้นและลดอุณหภูมิร่างกาย

  4. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา รวมถึงกาแฟ และเครื่องดื่มน้ำตาลสูง

  5. อย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแจ้ง ความร้อนภายในรถจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคสูงมาก

  6. เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่ควรอยู่ในที่อากาศร้อนและไม่ควรอยู่ตามลำพัง

  7. สำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย แนะนำออกกำลังกายในที่ที่อากาศถ่ายเท ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก และควรมีการอบอุ่นร่างกายก่อนทุกครั้ง

  8. สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง

  9. ผู้ที่มีโรคประจำตัวหากมีอาการผิดปกติ หรืออาการที่บ่งบอกตามข้างต้น ขอให้รีบพบแพทย์โดยทันที

  10. พกขวดน้ำเปล่าติดตัว หากต้องออกไปนอกบ้าน และหากพบอาการร้อนให้ดื่มน้ำบ่อย ๆ หรือหากเริ่มมีอาการที่สงสัยอาจใช้น้ำเป่านั้นราดบริเวณใบหน้าและลำคอ เฉลี่ยช่วยลดอุณหภูมิเบื้องต้นได้

หากพบผู้มี “อาการโรคลมแดด” ขอให้รีบนำเข้าที่ร่มอากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้นอนราบยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง เพื่อเพิ่มการไหลเวียน ถอดเสื้อผ้าให้เหลือน้อยชิ้น คลายชุดชั้นใน ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น น้ำแข็งประคบตามซอกคอ หน้าผาก รักแร้ ขาหนีบร่วมกับใช้พัดลมเป่า เพื่อระบายความร้อนและลดอุณหภมิร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด หากไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ และนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด








คุณหมอแนะนำ

ติดตามเรา

ห้องแชทสอบถามข้อมูล
30 ตุลาคม 2567